บทเรียนมนุษย์เงินเดือน (2)
เสียดายที่ไม่ได้ศึกษาต่อ
ความเสียดายข้อนี้เชื่อว่าเกินครึ่งของมนุษย์เงินเดือนที่มีความรู้สึกแบบนี้ เพราะตอนเข้ามาทำงานแรกๆ เกือบทุกคนมักจะคิดว่าจะหาเวลาศึกษาต่อ รอเก็บเงินค่าเทอมไปสักพักก่อนและรอให้ทำงานเข้าที่ก่อน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่พลาดเป้าหมายนี้ไป เช่น งานยุ่งไม่มีเวลาเรียน พอจะเรียนก็เปลี่ยนงาน (เหตุผลเดิม คือ รอให้งานเข้าที่แล้วค่อยเรียน) ไม่มีเงินค่าเทอม ขี้เกียจอ่านหนังสือ สอบไม่ได้ (เพราะไม่ตั้งใจ) ใจอยากเรียนแต่ไม่เคยแม้แต่จะลงมือทำอะไรเลย เลือกที่เรียนมากเกินไป บางคนลองไปเรียนแล้วแต่ไปไม่รอดเพราะแบ่งเวลาไม่เป็น อดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดย้อนกลับไปว่าถ้าตอนนั้นเรียนต่อในระดับนั้นระดับนี้ ป่านนี้คงจะประสบความสำเร็จไปมากกว่านี้แน่นอน เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิต คุณสมบัติครบทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวคือวุฒิการศึกษาไม่ถึง เลยเสียโอกาสที่สำคัญในชีวิตการทำงานไป มาถึงตอนนี้ก็แก่เกินเรียนแล้ว ยิ่งออกมาทำธุรกิจส่วนตัวถึงแม้เวลาจะมีมากขึ้น แต่กำลังใจมีน้อยลง แรงใจมีน้อยลง และไม่รู้จะเรียนไปทำไม เพราะงานธุรกิจส่วนตัวที่ทำอยู่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาสูงๆ ก็ได้
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คิดว่าจะต้องตัดสินใจเรียนตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ สักปีสองปี จะยอมอดทนไปสักระยะหนึ่ง และจะเรียนให้จบก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่หรือมีครอบครัว
เสียดายที่มัวแต่ทะเลาะกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน
มนุษย์เงินเดือนหลายคนเสียเวลาไปกับปัญหาคนเยอะมาก ทั้งปัญหาหัวหน้า ปัญหาเพื่อนร่วมงาน บางคนก็มีปัญหากับลูกน้องอีก วันๆ เสียเวลาของสมองไปกับการคิดถึงปัญหาคนอื่น ตอนที่เป็นลูกจ้างเรามักจะคิดว่าปัญหาทะเลาะกับคนทำงานเป็นปัญหาใหญ่ เลยใช้เวลากับมันมาก เครียดกับมันบ่อยแทบจะไม่มีเวลาไปพัฒนาหรือปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองเลย ตอนนั้นลืมไปว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครทำงานอยู่กับเราไปตลอดชีวิตและเราเองก็ไม่ได้ทำงานอยู่กับคนที่เราไม่ชอบไปตลอดชีวิตเช่นกัน แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดแบบนี้ คิดอย่างเดียวว่าวันนี้เรากับเขาจะมีปัญหากันเรื่องอะไรอีก คิดว่าเรื่องเมื่อวานมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนผิด ทำไมเขาจึงเป็นคนแบบนั้น สุดท้ายเราก็จะจมอยู่กับปัญหา คนที่บางครั้งเคยหนีจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแล้ว ปัญหาคนเก่าหายไป แต่….ปัญหาคนใหม่ก็เกิดขึ้น
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะคิดเสียว่าปัญหาคนเหมือนกับปัญหารถชนกันบนถนนที่เราไม่ต้องไปสนใจกับมันให้มากนัก แต่เราควรจะสนใจว่าเส้นทางที่เรากำลังจะเดินไปนั้นอยู่ไกลหรือไม่ เรามีเวลาเหลืออีกนานหรือไม่ ต้องคิดว่าไม่มีใครทำงานกับเราไปตลอดชีวิตและเราเองก็ไม่ได้ทำงานกับใครไปตลอดชีวิตเช่นกัน และคิดว่าถ้าเรารับปัญหาคนอื่นไม่ได้ เราคงจะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปไม่ได้ เพราะยิ่งสูงปัญหาคนยิ่งมากและซับซ้อนมากขึ้น
เสียดายที่เปลี่ยนงานมากไปหน่อย
ถ้าดูประวัติมนุษย์เงินเดือนบางคน จะเห็นว่าเปลี่ยนงานทุกปีๆ ละครั้งสองครั้ง ตอนที่เปลี่ยนงานก็มีเหตุผลมาสนับสนุนมากมาย เช่น เงินเดือนสูงกว่า อยู่ใกล้บ้าน เบื่อที่ทำงานเก่า งานใหม่ท้าทายกว่า อยากทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ฯลฯ แต่เมื่อมาถามตอนนี้ว่าผลการเปลี่ยนงานบ่อยในอดีตสรุปว่าดีหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่หลายคนตอบถ้าพิจารณาถึงผลระยะยาวแล้วอาจจะไม่เป็นผลดีมากนัก เพราะประสบการณ์ในแต่ละที่นั้นน้อยเกินไป
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะทำงานในแต่ละที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะน่าจะเป็นเวลาที่เราได้ครบทั้งการเรียนรู้ (Learn) การทำงาน (Perform) และการพัฒนาปรับปรุงงาน (Improve) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นอาจจะต้องขึ้นอยู่กับช่วงชีวิต เพราะบางช่วงอาจจะเปลี่ยนบ่อยเพราะตลาดกำลังโต ชีวิตกำลังรุ่ง แต่บางช่วงอาจจะต้องอยู่นาน เพราะต้องหยุดพักหายใจและสั่งสมประสบการณ์ ก่อนที่จะไต่ระดับขึ้นสู่เพดานบินที่สูงขึ้น