เพาะเลี้ยงไรแดง
ชื่ออาชีพ เพาะเลี้ยงไรแดง
เงินลงทุน ประมาณ 45,000 บาท/6 บ่อ (บ่อซีเมนต์ ขนาด 2.5 x 2 เมตร 6 บ่อ ราคาประมาณ 40,000 บาท เครื่องเป่าลมแบบโบลเวอร์ 3,000 บาท ถุงกรอง 500 บาท)
รายได้ ประมาณ 30 - 80 บาท/กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับฤดูกาล)
วัสดุ/อุปกรณ์
1. บ่อผลิต คือ บ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อดินจะทำให้ได้ไรแดงที่มีคุณภาพและปริมาณมากเพราะใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่าซีเมนต์ แต่ไม่สามารถควบคุมศัตรูของไรแดง ได้จึงมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงควรเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ซึ่งควรมีลักษณะเป็นรูปไข่แต่ถ้าเป็นบ่อสี่เหลี่ยมก็ใช้ได้พื้นที่ก้นบ่อฉาบและขัดมันน้ำจะหมุนเวียนได้ดี มีทางน้ำเข้าออกบ่อควรอยู่กลางแจ้งทำหลังคาชนิดที่ให้แสงทะลุลงมาได้ เพื่อป้องกันน้ำฝนลงบ่อขนาดของบ่อขึ้นอยู่กับความต้องการผลผลิตของไรแดง แต่ควรมีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร
2. เครื่องเป่าลม ใช้ในบ่อที่มีขนาด 30 ตารางเมตรขึ้นไป เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวและเพิ่มออกซิเจนเร่งการเจริญเติบโตของไรแดง
3. ผ้ากรอง ขนาด 69 ไมครอนหรือต่ำกว่า เพื่อกรองน้ำก่อนลงบ่อทุกครั้ง
4. น้ำเขียวหรือสาหร่ายคลอเรลล่า เป็นอาหารโปรตีนสูงของไรแดง เพาะพันธุ์โดยใช้ปุ๋ยอนินทรีย์กับปุ๋ยอินทรีย์ระยะเวลาในการเพาะเพื่อให้น้ำเขียวเข้มประมาณ 3 วัน เชื้อน้ำเขียวสามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานของกรมประมงที่มีการเพาะไรแดง
5. ไรแดง หัวเชื้อไรแดงควรมีสภาพสมบูรณ์ ขนาดใหญ่ อายุประมาณ 2 วัน หากเก็บมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติต้องเก็บในช่วงเช้าก่อนแดดจัด โดยใช้กระชอนอวนมุ้งสีฟ้าขนาดเล็กสุด เพื่อแยกไรแดงออกจากแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่นและให้มีไรแดงเพศผู้เพียง 5 % ของไรแดงทั้งหมด โดยเพศผู้จะมีลำตัวผอมยาวรีเล็กกว่าตัวเมียซึ่งอ้วนกลม
6. อาหารหมัก ใส่ 40 กรัม/พื้นที่น้ำ 1 ตารางเมตร มี 3 สูตร แต่ ผู้ที่เริ่มเพาะไรแดงควรเลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่งจาก 2 สูตรนี้
สูตรแรก อามิ - อามิ หรือกากผงชูรส 8 ลิตร ปุ๋ยนา (16-20-0) 1.2 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 1.2 กิโลกรัม ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 100 กรัม ปูนขาว 1 กิโลกรัม และกากถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม
สูตรที่ 2 รำละเอียด 1 กิโลกรัม ปลาป่น 500 กรัม กากถั่วเหลือง 500 กรัม ปุ๋ยนา (16-20-0) 1.2 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 1.2 กิโลกรัม ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 100 กรัม และปูนขาว 1 กิโลกรัม
ปุ๋ยทั้ง 2 สูตร ต้องหมักทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยมีอัตราส่วน อาหาร 1 ส่วน ต่อน้ำ 2 ส่วน จากนั้นเติมปูนขาวลงไปอีก 1 ส่วน
7. น้ำที่จะนำมาใส่บ่อเลี้ยงไรแดง ต้องใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลองเพราะมีแพลงก์ตอนพืชอาหารไรแดง แต่ต้องกรองด้วยผ้ากรองทุกครั้ง
8. ปูนขาวนำมาละลายน้ำเอาแต่น้ำปูนใสใส่ลงในบ่อไรแดง เพื่อปรับ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (ph) ช่วยเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์น้ำเขียว
แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ ร้านจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเกษตรทั่วไป
วิธีดำเนินการ
1. เมื่อก่อสร้างบ่อแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้ในบ่อ 1-3 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำทิ้งหรือหมักฟางหญ้า เศษพืช ผักไว้ในบ่อ ทำให้เกิดกรดอินทรีย์แก้ความเป็นด่างได้ จะใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ถ้าเป็นบ่อเก่าต้องล้างแล้วตากให้แห้งเพื่อกำจัดศัตรูไรแดง
2. กรองน้ำลงบ่อสูง 20 เซนติเมตร ใส่น้ำปูนใสลงไปปรับค่า ph ประมาณ 8 โดยใช้กระดาษวัดค่า ph เติมอาหารหมักลงในบ่อทิ้งไว้ 12-24 ชั่วโมง เปิดเครื่องเป่าลมเพื่อให้ออกซิเจนช่วยไม่ให้น้ำเสีย
3. เติมน้ำเขียวลงในบ่อประมาณ 1,000 ลิตร ทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อให้น้ำ เขียวเจริญเติบโตเต็มที่โดยระหว่างนี้ควรคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอน น้ำจะเน่า
4. แบ่งเชื้อน้ำเขียวไปลงบ่อเพาะใหม่ จำนวน 1,000 ลิตร นำพันธุ์ไรแดง ที่มีความสมบูรณ์ใส่ลงไป 2 กิโลกรัม ให้ออกซิเจนทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน ไรแดงจะขยายพันธุ์ขึ้น และสามารถเก็บขายได้ 13- 15 กิโลกรัม ใช้เวลาเพาะเลี้ยงไรแดงประมาณ 5 วัน
หากเพาะไรแดงแบบไม่ต่อเนื่อง ก็เก็บขายทั้งหมด แล้วล้างบ่อเริ่มขั้นตอนใหม่ จึงต้องมีบ่ออย่างน้อย 5 บ่อ เพื่อให้ครบวงจร
หากเพาะไรแดงแบบต่อเนื่อง ให้เก็บไรแดงเพียงครึ่งหนึ่งลดระดับน้ำให้เหลือ 10 เซนติเมตร เติมน้ำสะอาดและน้ำเขียวผสมอาหารหมักอย่างละ 5 เซนติเมตร ทำเช่นนี้ทุกวันจนผลผลิตลดลง จึงล้างบ่อแล้วเริ่มเพาะใหม่ส่วนใหญ่จะเก็บไรแดงได้ประมาณ 25 กิโลกรัม/1 บ่อ ระยะเวลาในการเพาะจนถึงการเก็บขายครั้งสุดท้าย รวม 12 วัน
ตลาด/แหล่งจำหน่าย ร้านขายอาหารสัตว์น้ำ
ข้อแนะนำ
ควรหมั่นสังเกตปริมาณของไรแดงหากลดลงและน้ำเขียวมีสีจางแสดงว่ามีตัว "โรติเฟอร์" มาแย่งกินอาหารและเจาะเข้าลำตัวดูดน้ำเลี้ยง ทำให้ไรแดงตายลงให้รีบตักไรแดงจำหน่ายแล้วล้างบ่อทันที หากขายไม่ทันให้แช่แข็งไว้รอการจำหน่ายแต่จะได้ราคาต่ำกว่าขายสด โดยตักไรแดงขึ้นให้สะเด็ดน้ำ ชั่งน้ำหนัก เติมน้ำสะอาด 20 % ของจำนวนน้ำหนักไรแดงตักใส่ถุงเข้าช่องแช่แข็งอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส